ประวัติความเป็นมา

ประวัติการพัฒนาหลักสูตรและการจัดตั้งสาขาวิชา

Logo SIME-2

คณะปฏิบัติงานพัฒนาหลักสูตรใหม่ ในความร่วมมือของผู้เชี่ยวชาญในมหาวิทยาลัยและผู้ชำนาญการในอุตสาหกรรมทั้งรัฐและเอกชน ทำการศึกษาและวิจัยอย่างเป็นระบบ เกี่ยวกับภาวะโลกร้อนและสาเหตุ โดยศึกษาจากฐานข้อมูลในองค์กรระหว่างประเทศ ผลการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีจากทุกภาคส่วนทั่วโลกรวมถึงทิศทางการพัฒนาอุตสาหกรรมภาวะการใช้ทรัพยากรธรรมชาติเพื่อการพัฒนาเทคโนโลยีที่ผ่านมากว่า 100 ปี จนถึงปัจจุบัน เกิดผลกระทบต่อภูมิอากาศ สิ่งแวดล้อมและพลังงานเริ่มขาดแคลน รวมทั้งปัญหาเชิงระบบนิเวศมากขึ้น

ผลการศึกษาและวิจัยพบว่า การพัฒนาอุตสาหกรรมและเทคโนโลยีที่ผ่านเกิดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซท์ กากอุตสาหกรรมและวัสดุเหลือใช้ (Waste) เพิ่มขึ้น มีผลกระทบต่อสิ่งมีชีวิต สภาวะโลกร้อนมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ถึงเวลาแล้วสำหรับการพัฒนาและกำหนดแนวทางป้องกันระยะยาวในเชิงวิชาการ

คณะผู้วิจัยจึงดำเนินการเสนอแนวทางบูรณาการองค์ความรู้เชิงวิศวกรรมทุกแขนงเพื่อสนับสนุนอุตสาหกรรมแนวใหม่ ที่เน้นความเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมมากขึ้น โดยบูรณาการ การพัฒนาวัสดุ พลังงาน และสิ่งแวดล้อมเพื่อให้สมดุลกัน จึงพัฒนาหลักสูตรใหม่เสนอมหาวิทยาลัยเพื่อจัดการเรียนการสอนในสาขาวิชาวิศวกรรมการจัดการอุตสาหกรรมเพื่อความยั่งยืนและได้รับความเห็นชอบเมื่อวันที่ 31 มีนาคม พ.ศ. 2553 โดยเริ่มก่อตั้งสาขาวิชาขึ้นเมื่อวันที่ 22 กันยายน 2553 เปิดสอนหลักสูตรวิศวกรรมศาสตรมหาบัณฑิต (วศ.ม.) สาขาวิชาวิศวกรรมการจัดการอุตสาหกรรมเพื่อความยั่งยืน และปรับปรุงหลักสูตรให้เน้นการวิจัยมากขึ้นตามแผน ก แบบ ก1 โดยสภามหาวิทยาลัยอนุมัติการปรับปรุง เมื่อวันที่ 8 มีนาคม พ.ศ. 2555

ต่อมาคณะพัฒนาหลักสูตรได้เสนอหลักสูตรอุตสาหกรรมศาสตรบัณฑิต (ต่อเนื่อง) สาขาวิชาเทคโนโลยีวิศวกรรมนวัตกรรมเพื่อความยั่งยืนต่อมหาวิทยาลัย โดยมุ่งเน้นการพัฒนาทรัพยากรบุคคลให้สอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงของโลก นโยบายประเทศ ปัญหาอุตสาหกรรม และพันธกิจของมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลพระนครในด้านการผลิตวิศวกรนักปฏิบัติที่มุ่งเน้นการสร้างนวัตกรรมที่ส่งเสริมการพัฒนาการผลิตของอุตสาหกรรมไทยและสังคมไทยที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม (Green Innovation) เช่น การออกแบบและพัฒนาผลิตภัณฑ์เชิงเศรษฐนิเวศน์ (Eco Design) การพัฒนาระบบการผลิตแบบอัจฉริยะ (Intelligent Manufacturing System)  การจัดการของเสียให้สามารถหมุนเวียนกลับมาใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุด เป็นต้น ซึ่งจะสามารถส่งเสริมการเพิ่มศักยภาพการแข่งขันเชิงเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม ได้อย่างยั่งยืนต่อไป ซึ่งสภามหาวิทยาลัยได้ให้ความเห็นชอบหลักสูตรเมื่อวันที่ 29 มิถุนายน 2559 เพื่อจัดการเรียนการสอนในภาคการศึกษาที่ 1 ปีการศึกษา 2559

Scroll to Top